กฎข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับ
ของ
สมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา  ฉบับแก้ไข  พ.ศ. 2547

                      ตามที่ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2547 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2547 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์  เห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับของสมาคม หมวดที่ 2  สมาชิก  ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงให้ยกเลิกข้อบังคับของสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา  พ.ศ. 2543  แล้วให้ใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน

หมวดที่ 1
ความทั่วไป

ข้อ  1. สมาคมนี้มีชื่อว่า  “สมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา”  ใช้อักษรย่อว่า “สวพอ” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Association of Institutional  Research  and Higher Education Development” ใช้อักษรย่อว่า “AIRHED”

ข้อ  2.เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปอักษรย่อ สวพอ โดยใช้สีน้ำเงินแรเงาสีดำ มีชื่อสมาคมเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับ


รูปของเครื่องหมายสมาคม



ข้อ  3.สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่ หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  กรุงเทพมหานคร เลขที่ 128/237 อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 22  ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ (02) 216 5410, 216 5493-4   โทรสาร (02) 216 5411

ข้อ  4.วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
4.1  เป็นศูนย์กลางของนักวิจัยสถาบัน  นักสถิติ  นักวัดผลและนักประเมินผลทางการศึกษา นักวิชาการด้านการศึกษา ด้านนโยบายและแผน และผู้บริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ อันจะนำไปสู่ประโยชน์ในทางวิชาการ และวิชาชีพ
4.2 ส่งเสริมการทำวิจัยสถาบัน และนำผลไปใช้ในการประเมิน การวางแผน การพัฒนา และการ ประกันคุณภาพการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุดมศึกษา
4.3 ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน
4.4 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่งานวิจัยสถาบัน งานนโยบายและแผน  งานประกันคุณภาพการศึกษาและการพัฒนางานด้านต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษา
4.5 ให้บริการวิชาการทางด้านวิจัยสถาบัน ด้านนโยบายและแผน และการประกันคุณภาพการศึกษา ระดับอุดมศึกษา และเผยแพร่ผลงานเหล่านี้ให้แพร่หลายไปยังสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้อง
4.6 พิทักษ์สิทธิ หน้าที่ ผดุงเกียรติ และส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ ด้านวิจัยสถาบัน และการพัฒนาอุดมศึกษาของสมาชิก

หมวดที่ 2
สมาชิก

ข้อ  5. สมาคมนี้แบ่งสมาชิกออกเป็น 2 ประเภท
5.1    ประเภทบุคคล
5.1.1 สมาชิกสามัญ คือ นักวิจัยสถาบัน นักสถิติ นักวัดผลและนักประเมินผลทางการศึกษา นักวิชาการด้านการศึกษา ด้านนโยบายและแผนระดับอุดมศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมรับรอง
5.1.2  สมาชิกวิสามัญ คือ ผู้ที่สนใจในการวิจัยสถาบัน สถิติ การวัดผลและการประเมินผลทางการศึกษา การวางแผนและพัฒนา และการประกันคุณภาพการศึกษา ที่คณะกรรมการบริหาร 
ของสมาคมรับรอง
5.1.3  สมาชิกสมทบ คือ นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวิจัย    สถิติ   การวัดผลและการประเมินผลทางการศึกษา การอุดมศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมรับรอง
5.1.4 สมาชิกกิตติมศักดิ์ คือ ผู้ที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
5.2    ประเภทสถาบัน
5.2.1 สมาชิกสถาบัน ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน และหน่วยงานหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยสถาบันและการพัฒนาอุดมศึกษา ที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมรับรอง  สมาชิกประเภทสถาบันมีสิทธิกำหนดผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมในฐานะสมาชิกได้ 2 คน

ข้อ  6. สมาชิกประเภทบุคคล ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
6.1 เป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ  การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ  7. การเข้าเป็นสมาชิก
7.1 สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกสถาบัน ต้องยื่นใบสมัครและผ่านการรับรองอนุมัติให้เป็นสมาชิกได้ของคณะกรรมการบริหารของสมาคม
7.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมพิจารณาลงมติเชิญผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นสมาชิก

                               
ข้อ  8. สมาชิกมีหน้าที่ดังนี้ คือ
8.1  ปฏิบัติตามระเบียบ และวัตถุประสงค์ของสมาคม
8.2  ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารของสมาคม
8.3  ส่งเสริมกิจกรรมและสนับสนุนสมาคม
8.4  ช่วยเหลือเกื้อกูลสมาคมและสมาชิกอย่างเต็มความสามารถ

ข้อ 9. สมาชิกสามัญและสมาชิกสถาบันมีสิทธิดังนี้
9.1 ได้รับการส่งเสริม คุ้มครองทางวิชาชีพจากสมาคม
9.2 ได้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการของสมาคม
9.3 มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารของสมาคม
9.4 มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกรรมการบริหารของสมาคม
9.5 ได้รับเอกสารวิชาการของสมาคม
9.6 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหารของสมาคม
9.7 รับทราบรายงานกิจการและทรัพย์สินของสมาคม

ข้อ 10 . สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิดังนี้
10.1  สมาชิกวิสามัญ มีสิทธิตามข้อ 9. ทุกประการ ยกเว้นข้อ  9.3
10.2  สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิตามข้อ 9. ทุกประการ ยกเว้นข้อ  9.3 และ  9.4

ข้อ 11. ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก

ประเภทสมาชิก

ราย 1 ปี (บาท)

ตามวาระ(วาระละ 2 ปี)  (บาท)

ตลอดชีพ (บาท)

            สามัญ

300

1,000

            วิสามัญ

300

1,000

            สมทบ

100

            สถาบัน

600

2,000

ข้อ 12.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน

ข้อ 13.สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพ เมื่อ
13.1   ตาย
13.2   ลาออก
13.3   คณะกรรมการบริหารของสมาคมโดยเสียงข้างมากให้ออก
13.4   เมื่อสมาชิกสมทบพ้นสภาพการเป็นนิสิต/นักศึกษา
13.5   ไม่ชำระค่าลงทะเบียนตามที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมกำหนด    
สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพข้อ 13.2 หรือ 13.3 อาจเข้าเป็นสมาชิกอีกได้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารของสมาคมที่เข้าประชุม

หมวดที่ 3
การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 14. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 11 คน อย่างมากไม่เกิน 25 คน  คณะกรรมการนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมและให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก  2  คน  สำหรับกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ  ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้   ซึ่งตำแหน่งของกรรมการบริหารของสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
14.1 นายกสมาคม  ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคม และการประชุมใหญ่ของสมาคม และมีหน้าที่อย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสมาคม

 

14.2 อุปนายก  ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
14.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม
14.4  เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
14.5  ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม และรับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุและครุภัณฑ์ของสมาคม
14.6  นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับจัดทำและรักษาทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมให้      สมบูรณ์และเป็นปัจจุบันเสมอ ขออนุมัติรับรองสมาชิกจากคณะกรรมการบริหารของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก และวิเคราะห์จัดทำรายงานสถานภาพของสมาชิก
14.7  สาราณียากร มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการทำวารสารและหนังสือต่างๆ ของสมาคม
14.8  ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
14.9  กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการบริหารของสมาคมเห็นสมควร กำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว
จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการบริหารของสมาคมที่มิได้รับการแต่งตั้งตามตำแหน่งตั้งแต่ข้อ 14.1–14.8 ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลาง คณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดแรกให้ผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมที่เข้าประชุมครั้งแรกเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วย นายกสมาคมและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อ 15. คณะกรรมการบริหารของสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการบริหารของสมาคมอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดเก่าและคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 16.ตำแหน่งกรรมการบริหารของสมาคม ถ้าว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 17.กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระในกรณีต่อไปนี้
17.1 ตาย
17.2 ลาออก
17.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
17.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
17.5 ไม่มาประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคมโดยไม่ลาติดต่อกัน 3 ครั้ง เมื่อได้รับทราบวันนัดประชุมแล้ว

ข้อ 19. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารของสมาคม 
19.1 ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ และวัตถุประสงค์ของสมาคม
19.2 ออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
19.3 แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
19.4 พิจารณาอนุมัติ หรือไม่อนุมัติรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิก
19.5 แต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการใดๆที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมมอบหมาย
19.6 เชิญบุคคลที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาได้ตามความจำเป็น ที่ปรึกษามีสิทธิเสนอความคิดเห็นและอภิปรายในการประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียง
19.7 เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
19.8 แต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
19.9 บริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
19.1 รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
19.11 จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
19.12 จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
19.13 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
19.14 ตีความหมายข้อบังคับของสมาคมในกรณีที่มีปัญหา
19.15 จัดกิจกรรมเพื่อหาทุนบำรุงสมาคม
19.16 มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 20.ให้นายกสมาคมกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคมอย่างน้อยสองเดือนครั้ง   ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ 21.กรรมการที่ไม่สามารถเข้าประชุมได้อาจมอบหมายให้กรรมการผู้ช่วยของตนเข้าประชุมแทนได้ โดยมอบอำนาจไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้เข้าประชุมย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทนทุกประการ

ข้อ 22. การประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคม จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหารทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคม ข้อ 23. ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของสมาคม   ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่

 ข้อ 24. การประชุมใหญ่ของสมาคม ประกอบด้วย
24.1 ประชุมใหญ่สามัญ
24.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 25. คณะกรรมการบริหารของสมาคมจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนธันวาคมของทุก ๆ ปี
ข้อ 26. การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญและสมาชิกสถาบันทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารของสมาคมให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 27. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 28. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
28.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
28.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
28.3 เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
28.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
28.5 เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี

ข้อ 29. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คนของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก  สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้  ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 30. การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 31. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม  และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคราวนั้น

 

หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 32.การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารของสมาคม เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้โดยอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของสมาคม

ข้อ 33.การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ  หรือผู้ที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมกำหนด พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 34. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน  50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของสมาคม

ข้อ 35.ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 10,000 บาท (หนื่งหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ 36.การรักษาเงินนอกจากที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 34. ให้เหรัญญิก และนายกสมาคมหรือผู้รักษาการแทนจัดฝากในธนาคาร หรือในสถาบันการเงินอื่นที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ โดยอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของสมาคม

ข้อ 37.การอนุมัติจ่ายเงินจะต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารโดยมีลายเซ็นอนุมัติของนายกสมาคมหรือผู้รักษาการแทน

ข้อ 38. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 39. ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 40.ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการบริหารของสมาคมและสามารถเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 41. คณะกรรมการบริหารของสมาคม และเจ้าหน้าที่ของสมาคมจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ
และการเลิกสมาคม

ข้อ 42.ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ทั้งนี้ผู้ขอเสนอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต้องเสนอรายละเอียดการขอเปลี่ยนแปลงมาเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านทางคณะกรรมการบริหารของสมาคมเพื่อพิจารณาเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเข้าที่ประชุมใหญ่

ข้อ 43.การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่า 50 คน ของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 44.เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นขององค์กรที่เป็นนิติบุคคลเพื่อการกุศลอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมพิจารณาเห็นสมควร

หมวดที่ 7
บทเฉพาะกาล

ข้อ 45.ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้นไป

ข้อ 46.เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ
ประกาศ  ณ  วันที่ 11 ตุลาคม 2547

 

(ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร  ศรีสอ้าน)
นายกสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา